การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
หมายถึง
ขบวนการที่มีการปฏิบัติการต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์
จากแปลงขยายพันธุ์ เพื่อยกระดับคุณภาพด้านกายภาพของเมล็ดพันธุ์
โดยการขจัดหรือลดสิ่งเจือปนหรือสภาพที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ออกไป
เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีสำหรับกระจายสู่เกษตรกร
เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวจากแปลงขยายพันธุ์ของเกษตรกร
และผ่านกระบวนการตรวจสอบเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ในโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ตามขั้นตอนต่างๆ
ดังนี้
· การคัดทำความสะอาดขั้นต้น
เป็นการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ในเบื้องต้น
เพื่อกำจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ปะปนมา เช่นเศษดิน หิน ใบไม้
เศษพืชขนาดเล็กใหญ่หรือเมล็ดลีบที่เบามากๆ เป็นการคัดทำความสะอาดแบบหยาบ การคัดทำความสะอาดขั้นต้นจะถูกดำเนินการก่อนที่จะนำเข้าลดความชื้น
·
การลดความชื้น
หลังจากการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์
จำเป็นต้องทำการลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ให้เร็วที่สุด
เพื่อรักษาความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ (เพื่อรักษาคุณภาพความงอก
และเป็นการยืดอายุการเก็บรักษา)
ซึ่งควรลดความชื้นให้ไม่เกิน 12 %
1.
การลดความชื้นโดยอาศัยธรรมชาติ ด้วยการตากแดด ที่ความหนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร
2. การอบลดความชื้นโดยอาศัยการปรุงแต่งสภาพอากาศ
เป็นวิธีที่ปฏิบัติในอุตสาหกรรม ใช้ระบบถังลดความชื้น ประกอบด้วย ถังบรรจุเมล็ดพันธุ์
ชุดกำเนิดลมร้อน ประกอบด้วยเครื่องกำเนิดความร้อน (heater) พัดลม
(blower) และระบบส่งลมร้อนผ่านเมล็ดพันธุ์
·
การคัดทำความสะอาดด้วยตะแกรงและลม
เป็นเครื่องซึ่งใช้ลมเป่าร่วมกับการใช้ตะแกรงโลหะ
ทำการคัดแยกทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์โดยอาศัยความแตกต่างทางกายภาพของเมล็ดพันธุ์ และวัสดุที่ไม่พึงประสงค์ในด้านขนาด
น้ำหนักหรือความถ่วงจำเพาะ และความต้านทานต่อความแรงของลมที่ปล่อยผ่านเมล็ดพันธุ์
·
การคัดทำความสะอาดโดยอาศัยความถ่วงจำเพาะ
เป็นการคัดแยกเมล็ดพันธุ์หรือวัสดุที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ
ที่มีขนาด และรูปร่างที่ใกล้เคียงกันกับเมล็ดพันธุ์ออกจากกัน โดยอาศัยความแตกต่างด้านน้ำหนัก
·
การคลุกสารเคมี
หลังจากเมล็ดพันธุ์ผ่านการปรับปรุงสภาพโดยการอบลดความชื้น
และการคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์แล้ว เมล็ดพันธุ์จะถูกนำไปคลุกสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา
และสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง เพื่อป้องกันความเสียหายจากศัตรูต่างๆ ในระหว่างการเก็บรักษา
รวมทั้งป้องกันโรคที่อาจติดมากับเมล็ด
·
การบรรจุเมล็ดพันธุ์
เมื่อเมล็ดพันธุ์คลุกสารเคมีเสร็จแล้ว
ก็พร้อมไปสู่กระบวนการบรรจุถุง เพื่อจำหน่ายต่อไป โดยการบรรจุเมล็ดพันธุ์ลงในถุง
มีวัตถุประสงค์เพื่อความสะดวกในการเก็บรักษาและการขนส่ง
โดยน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ข้าวที่นิยมบรรจุถุงเพื่อการจำหน่ายคือ 25 กิโลกรัมต่อถุง
โดยที่ถุงบรรจุต้องมีการติดฉลากแสดงรายละเอียด เช่น ชนิดเมล็ดพันธุ์ ชื่อพันธุ์
วันเดือนปีที่ผลิต สถานที่ผลิต เป็นต้น